Dangerous Goods Warehouse
คลังสินค้าวัตถุอันตราย ออกแบบก่อสร้างอย่างไรให้ปลอดภัย
สินค้าวัตถุอันตราย ส่วนประกอบสำคัญที่แทบทุกวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย ล้วนต้องใช้ เคมีภัณฑ์ หรือ วัตถุอันตราย เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิต ผสม ประกอบ กับวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นในประเทศ เพื่อผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตมีความหลากหลายมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมสี เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น คลังสินค้าวัตถุอันตราย ใช้สำหรับจัดเก็บสินค้าหรือวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าสารเคมีต่าง ๆ จำนวนมาก สินค้าเคมีภัณฑ์ คลังสินค้าวัตถุอันตราย ต้องการมีการออกแบบก่อสร้างที่มีความปลอดภัยอย่างเข้มงวดต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง มาเจาะลึกวัตถุสินค้าอันตราย และการออกแบบก่อสร้าง Dangerous Goods Warehouse คลังสินค้าวัตถุอันตราย ออกแบบก่อสร้างอย่างไรให้ปลอดภัย
คลังสินค้าวัตถุอันตราย คือ คลังสินค้าประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับจัดเก็บสินค้าหรือวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย เช่น เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง สารพิษ และวัสดุอันตรายอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การระเบิดได้ ซึ่งสินค้าอันตรายประเภทนี้มักจะเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เคมีและปิโตรเลียม โดยภายในคลังสินค้าประเภทจำเป็นต้องมีแนวทางในการจำแนกประเภทสารอันตรายและต้องมีการจัดเก็บด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ไฟไหม้คลังสินค้า คลังสินค้าระเบิด เป็นต้น
“สินค้าอันตราย” (Dangerous Goods)
สิ่งของหรือวัตถุ ที่มีคุณสมบัติทางเคมี หรือ ทางกายภาพโดยตัวของมันเอง หรือเมื่อสัมผัสกับสารอื่น (อากาศหรือน้ำ ฯลฯ) ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินหรือต่อสภาพแวดล้อม ตามที่ระบุไว้ใน IMDG (International Maritime Dangerous Goods Code)
สินค้าเคมีภัณฑ์หรือสินค้าอันตรายมีกี่ประเภท
- วัตถุระเบิด
- ก๊าซไวไฟ
- ของเหลวไวไฟ
- ของแข็งไวไฟ สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง และสารที่สัมผัสกับน้ำแล้วทำให้เกิดก๊าซไวไฟ
- วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุอินทรีย์เปอร์ออกไซด์
- วัตถุมีพิษและวัตถุติดเชื้อ
- วัตถุกัมมันตรังสี
- วัตถุกัดกร่อน
- วัตถุอันตรายต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากทั้ง 8 ประเภท ข้างต้น
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคลังสินค้าวัตถุอันตราย
- ไฟไหม้ คลังสินค้าทั่วไปมักอัดแน่นไปด้วยสินค้าจำนวนมาก ประกายไฟเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอต่อการทำให้เกิดความเสียหายตามมา
- น้ำท่วม น้ำท่วมเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สามารถนำไปสู่ความเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึง พิจารณาการปิดผนึกพื้น ประตู หน้าต่าง และช่องเปิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลท่วมเข้าสู่คลังสินค้า
- การรักษาความปลอดภัย คลังสินค้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการโจรกรรม เนื่องจากมักมีสินค้าคงคลังจำนวนมาก ซึ่งการโจรกรรมเหล่านี้อาจมีต้นเหตุมาจากทั้งบุคคลภายในหรือบุคคลภายนอก
- การจัดการกับสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องปกติที่ภายในคลังสินค้าจะมีการจัดเก็บสารเคมีชนิดต่าง ๆ เกิดการรั่วไหล อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน พนักงานที่ปฏิบัติงานในคลังสินค้ารายล้อมไปด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละวัน ซึ่งไม่เพียงทำให้พนักงานตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการได้
- ความเสียหายของผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงแต่ไฟไหม้และน้ำท่วมเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าคงคลังภายในคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง หากผู้ปฏิบัติงานไม่มีการฝึกอบรมและเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บวัตถุแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน
- ความล้มเหลวของอุปกรณ์ การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล ความเสี่ยงของการสูญเสียข้อมูลสำคัญและข้อมูลในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ
Photo : https://en.origin.co.th/
หัวใจสำคัญในการออกแบบและก่อสร้างคลังสินค้าวัตถุอันตราย
- การเลือกใช้วัสดุกันไฟมาเป็นส่วนประกอบหลัก ตั้งแต่ผนัง พื้น รวมไปถึงหลังคา เพราะวัสดุกันไฟมีคุณสมบัติในการป้องกันการลุกลามจากภายในสู่ภายนอก โดยวัสดุ กันไฟที่นำมาใช้ต้องมีความทนทาน และมีระยะทนไฟ 30 นาที 60 นาที และ 120 นาที ตามมาตรฐานสากลในการออกแบบและก่อสร้าง‘ผนังอาคาร’ จำเป็นต้องเลือกวัสดุกันไฟในการก่อสร้างผนังอาคาร โดยมีความสูงเหนือหลังคา 30-1.00 เมตร และยื่นออกจากผนังด้านข้าง 0.30-0.50 เมตร ซึ่งเป็นไปตามรายละเอียดในข้อกำหนดพิเศษ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันการลุกลามของไฟได้ สำหรับ ‘พื้น’ ต้องมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักสารเคมีและวัตถุอันตรายทั้งหมด โดยวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างพื้นต้องทนต่อน้ำและสารเคมี ในกรณีเก็บของ เหลวไวไฟ ก๊าซไวไฟและวัตถุระเบิด พื้นต้องนำไฟฟ้าได้ ไม่เกิดไฟฟ้าสถิต รวมถึงต้องไม่ดูดซับของเหลว เรียบไม่ลื่น ไม่มีรอยแตกร้าว และทำ ความสะอาดง่าย
- คลังสินค้าอันตรายต้องมีความกว้างอย่างน้อย 30 เมตร และมีพื้นที่ตั้งแต่ 1,200 ตารางเมตรขึ้นไป โดยต้องมีผนังกันไฟกั้นตัด ตอนที่มีระยะห่างจากกันไม่เกิน 40 เมตรหรือตามความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในกรณีที่คลังสินค้าอันตรายมีระยะห่างจากอาคารอื่นน้อยกว่า 10 เมตร ผนังอาคารต้องสร้างด้วยกำแพงกันไฟที่มีระยะเวลาทนไฟอย่างน้อย 90 นาที ยกเว้นคลังสินค้าที่ใช้เก็บสารไม่ติดไฟเท่านั้น
- หลังคา ต้องออกแบบให้มีการระบายความร้อนและควันขณะเกิดเพลิงไหม้ด้วย โดยโครงสร้างหลักที่รองรับหลังคาต้องได้รับการปกป้องด้วยวัสดุไม่ติดไฟ วัสดุที่ใช้มุงหลังคา ต้องทนไฟได้ 30 นาที และหลังคาต้องไม่มีฝ้าเพดาน กรณีที่จำเป็นต้องมีฝ้า เช่นในห้องควบคุมความเย็น ฝ้าต้องผลิตจากวัสดุไม่ติดไฟ และต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน และความร้อนไว้ใต้หลังคา หากมีความจำเป็นต้องทำการจัดเก็บโดยแบ่งเป็นห้องตามแนวตั้ง พื้นและโครงสร้าง ต้องสามารถทนไฟได้นานอย่างน้อย 90 นาที
- การติดตั้งระบบความปลอดภัย โดยการติดตั้งระบบความปลอดภัยในคลังสินค้าอันตราย มีความซับซ้อนกว่าคลังสินค้าทั่วไป คลังสินค้าอันตรายต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ เช่น วิธีระบายอากาศผ่านช่อง ระบายอากาศระหว่างหลังคาสองชั้น หรือการระบายอากาศโดยวิธีกล ซึ่งต้องได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการติดตั้ง ระบบไฟฟ้า แสงสว่างฉุกเฉิน และอุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องมีการออกแบบและติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานของคณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ โดยการติดตั้งระบบไฟฟ้าและแสงสว่างฉุกเฉินภายในคลังสินค้า จะช่วยป้องกันการเกิดไฟไหม้ หรือระเบิด นอกจากนี้ อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องมีการต่อสายดิน และมีระบบป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยบริเวณพื้นที่อันตรายที่มีการจัดเก็บและขนถ่ายสารไวไฟ ต้องมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดป้องกันการระเบิด ให้เหมาะสมกับสารที่จัดเก็บนั้น ๆ
- การติดตั้งระบบสายล่อฟ้าตามมาตรฐานการป้องกันฟ้าผ่า สำหรับสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการวิชาการ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ โดยกำหนดว่าสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่อยู่ในระยะ 30 เมตร ของสิ่งปลูกสร้างที่เก็บวัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ ต้องติดตั้งระบบสายล่อฟ้าที่ได้รับการออกแบบและติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ
- การติดตั้งระบบเตือนภัย แบ่งเป็นสองประเภท คือ‘สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้’ เป็นสัญญาณที่กดเรียกโดยพนักงานหรือโดยอุปกรณ์การตรวจจับ โดยสัญญาณเสียงต้องได้ยินทั่วทั้งพื้นที่ของคลังสินค้า เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบ โดยทั่วไปสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นเสียงหวูดยาว 1 นาที ส่วน ‘สัญญาณแจ้งก๊าซรั่ว’ เป็นสัญญาณเสียงเมื่อเครื่องตรวจจับก๊าซตรวจพบความเข้มข้นของก๊าซเกินระดับที่ตั้งไว้ โดยสัญญาณเสียงต้องได้ยินทั่วทั้งพื้นที่ของคลังสินค้า เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้ ซึ่งสัญญาณแจ้งเหตุก๊าซรั่วเป็นเสียงที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ และจะคงที่เป็นเวลา 1 นาที ที่ระดับเสียงหนึ่ง และลดลงจากนั้น และสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และสัญญาณแจ้งเหตุก๊าซรั่วต้องมีเสียงที่แตกต่างกัน โดยมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยแบบกดในตำแหน่งที่เหมาะสมทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร ระดับเสียงต้องเป็นเสียงที่ดัง และแตกต่างจากเสียงปกติตามสภาพแวดล้อม โดยมีการทดสอบการทำงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง
Photo : https://www.cosmatosgroup.com/
- การติดตั้งอุปกรณ์การตรวจจับเพื่อตรวจจับคุณลักษณะของเพลิงไหม้ อย่าง ตรวจจับความร้อน ตรวจจับควัน ตรวจจับเปลวไฟ หรือตรวจจับก๊าซ โดยการเลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับขึ้นอยู่กับประเภทสารเคมี หรือวัตถุอันตราย ที่จัดเก็บและสภาพแวดล้อมในแต่ละสถานที่ ซึ่งบางสถานที่อาจต้องใช้อุปกรณ์ตรวจจับหลายแบบผสมกันเพื่อให้การตรวจจับมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การติดตั้งระบบระงับอัคคีภัยอย่าง อุปกรณ์ดับเพลิงและระบบน้ำดับเพลิง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เพลิงไหม้ภายในคลังสินค้าลุกลามเพิ่มขึ้น โดยคลังสินค้าต้องมีเครื่องดับเพลิงที่มีขนาดและจำนวนที่เหมาะสมกับปริมาณสารเคมีและวัตถุอันตรายที่จัดเก็บ และต้องได้รับการตรวจสอบไม่น้อยกว่าหกเดือนต่อหนึ่งครั้ง โดยอุปกรณ์ดับเพลิงต้องติดตั้งในสถานที่เหมาะสม รวมทั้งอุปกรณ์ดับเพลิงต้องเคลื่อนย้ายง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน
- การติดตั้งระบบน้ำดับเพลิงในคลังสินค้า จะต้องมีการติดตั้งในตำแหน่งที่สามารถฉีดน้ำ หรือสารเคมีผสมน้ำดับเพลิงให้เหมาะสม และสามารถกระจายน้ำได้ทั่วถึง ในกรณีที่มีการติดตั้งหัวกระจายน้ำตามชั้นวางสินค้า ต้องมีหัวกระจายน้ำทุก ๆ สองชั้นเป็นอย่างน้อย โดยต้องมีขนาดความยาวและจำนวนเพียงพอที่จะควบคุมเพลิงได้ และสามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมไปถึงปริมาณน้ำดับเพลิงที่ใช้ในการดับเพลิงต้องมีปริมาณที่เพียงพอ เพื่อใช้ในการผจญเพลิงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมง และควรจัดให้มีปริมาณน้ำสำรอง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สำหรับสถานที่เก็บรักษาที่มีเนื้อที่มากกว่า 4,000 ตารางเมตร
- ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยและเฝ้าระวังทางอิเล็กทรอนิกส์ รักษาความปลอดภัยทุกทางเข้า-ออกด้วยระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ มีระบบให้ผู้เข้าเยี่ยมลงทะเบียนก่อนและหลังเข้าออกพื้นที่ การฝึกอบรมพนักงานในทุกด้าน และมีการปฏิบัติจริง ตระหนักถึงอันตราย การจัดเก็บ สินค้า เก็บข้อมูลสำรองข้อมูล การจัดเก็บสารเคมีแต่ละประเภทออกจากกัน เนื่องจากสารเคมีบางชนิดจะทำปฏิกิริยาเคมีต่อกันซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ ตรวจเช็คอุปกรณ์ ว่าทำงานเป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ ทั้งไฟไหม้ น้ำท่วม ต้องมีการตั้งรับอย่างเข้มงวด
Dangerous Goods Warehouse คลังสินค้าวัตถุอันตราย ออกแบบก่อสร้างอย่างไรให้ปลอดภัย คลังสินค้าวัตถุอันตราย การออกแบบก่อสร้างต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสินค้าในระยะยาว ต้องมีทีมวิศวกรดูแล แนะนำที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างคลังสินค้า ทำงานควบคู่กับนักเคมีที่เชี่ยวชาญ สามารถให้คำปรึกษา หรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บสารเคมีหรือสินค้าอันตรายประเภทต่าง ๆ และเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายอย่างเข้มงวด คลังสินค้าต้องได้มาตฐานตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบบความปลอดภัยที่ครบครัน และตัวพนักงานต้องผ่านการฝึกอบรมการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย อุทกภัยอย่างเข้มงวด เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการก็ควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการเก็บสารเคมีเหล่านี้ มีขั้นตอนปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินที่ปฏิบัติได้จริง และการบันทึกข้อมูลที่สามารถสืบค้นย้อนหลังได้ง่าย