Amazing Architecture สร้างสถาปัตยกรรมยังไง ให้โลกจำ

ขอพาทุกท่านไปดูโลกของสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์มาให้สวยงาม น่าสนใจ ผ่านไอเดียของสถาปนิกระดับโลก และถูกก่อสร้างมาผ่านเทคนิด และความปราณีต หลบพักจากข่าวคราวของโควิด-19 กันก่อน  ที่ยอดเป็น New Hight ในทุกวันที่ทำให้หลายคนเครียดกับการเสพข่าว มาท่องเที่ยวดูกับสถาปัตยกรรมสุดสร้างสรรค์ที่เรานำมาฝากกันว่า สถาปนิกและวิศวกร มีแนวคิดอย่างไร ในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงาน ให้เป็นที่น่าสนใจระดับโลก

ภาพประกอบโดย Bahai Temple https://parametric-architecture.com

Bahai Temple

ตั้งอยู่ ที่สาธารณรัฐชิลี สถาปัตยกรรมแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่ผู้คนจะมารวมตัว เพื่อขับกล่อมจิตวิญญาณของศาสนาบาไฮ ซึ่งโครงสร้างของอาคารล้วนสะท้อนการใช้งานของพื้นที่ มิติของแสง รูปแบบและงานวัสดุ ที่สะท้อนถึงปรัชญาและคำสอนของศาสนาบาไฮได้เป็นอย่างดี รูปทรงของอาคารห่อหุ้มและบิดเป็นเกลียวคล้ายโดม ที่เชิญชวนทุกคนเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยสะท้อนแนวคิดแห่งชีวิตที่รวมกันเป็นหนึ่ง รูปทรงของอาคารที่แปลกตาโอบล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ฟาซาดของอาคารประกอบด้วยปีกทั้ง 9 ที่ทำจากวัสดุโปร่งแสง สะท้อนความมีชีวิตชีวาและด้วยแสงไฟที่เปล่งออกมาและสะท้อนกับผิวน้ำที่อยู่รายล้อม ปีกของอาคารทั้ง 9 บิดตัวและหมุนเป็นแนวขึ้นสู่ยอดสูงสุด เปรียบเปรยในเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเชื่อมต่อของมนุษย์ ออกแบบโดย Hariri Pontarini Architects วัสดุที่วิหารบาไฮเลือกคือ “หินอ่อน” จากโปรตุเกส ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถกรองแสงภายนอกอันเจิดจ้าให้ลดลงในระดับเหมาะสม เมื่อนำมาติดตั้งด้านในของส่วนปีกนกด้วยจำนวนมากถึง 870 ชิ้น ภาพของแสงที่ถูกกรองมาพอเหมาะจึงสวยงามหาชมได้ยาก แถมพอผสมกับกระจกที่ตั้งไว้ในอาคาร ช่องแสงเหล่านี้ก็กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้คนต้องดั้นด้นมาเช็กอินสักครั้ง ที่สำคัญใช่ว่าเมื่อดวงอาทิตย์ลาขอบฟ้า มนต์ขลังของมันจะจบลง เพราะแสงที่เปิดจากในตัวอาคารก็ลอดผ่านรอยแยกสะท้อนลงสู่ผิวน้ำเรียบนิ่งประหนึ่งมีวิหารแฝดเคียงกันตรึงตาตรึงใจ

ภาพประกอบโดย Bill & Melinda Gates Hall www.archdaily.com

Bill & Melinda Gates Hall

Gates Hall จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ อาคารใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีขนาดพื้นที่การใช้งาน 9425.0 ตารางเมตร ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างพื้นที่การอภิปรายพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างสาขาต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติ ด้วยกลยุทธ์การออกแบบที่เพิ่มความสามารถในการมองเห็น และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งอาคารแห่งใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อ “บูรณาการด้านศาสตร์ความรู้ ที่ผสมผสานกับความคิดเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ไปสู่ทุกสาขาวิชา”

Gates Hall ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานในเวลากลางวัน ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นสำหรับนักศึกษาทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ ซึ่งพื้นที่ภายในอาคารถูกออกแบบมาให้สามารถเชื่อมต่อปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกันได้ด้วยการมองเห็นผ่านวัสดุโปร่งแสงอย่างกระจก นอกจากนี้ยังใช้กระจกแบบพิเศษตกแต่งผนังภายนอกอาคาร เปรียบเสมือนหน้าจอแก้วประสิทธิภาพสูง ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบเครื่องกลในการระบายความร้อนเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่ จึงทำให้ Gates Hall สามารถใช้พลังงานธรรมชาติมากกว่าอาคารเรียนทั่วไปได้ถึง 30%  เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการรีไซเคิลนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่

ภาพประกอบโดย BMW Innovation Centre​  http://bigmoneymag.com/innovation-bmw-welt/

BMW Innovation Centre

ตั้งอยู่ที่ Munich (มิวนิก) อีกหนึ่งเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี อาคาร BMW Innovation Centre ถือเป็นโปรเจคที่มีรูปทรงที่แปลกใหม่เเละน่าใจ ด้วยการดีไซน์อาคารทั้งหมดที่เน้นภายนอกให้มีจุดเด่นหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์ของอาคารที่ดูทันสมัยด้วยรูปทรงที่บิดพริ้ว เเละที่สำคัญยังมีการนำเอากระจกโปร่งเเสง มาตกเเต่งเกือบทั้งหมดของอาคาร บวกกับการออกแบบ Lighting ที่ให้ความสวยงาม เวลากลางคืนจึงยิ่งทำให้อาคารนี้เกิดมิติการสะท้อนที่สวยงามสะดุดตา การออกแบบเต็มไปด้วยความทันสมัย อาทิ ตัวอาคารที่มีส่วนโค้งมาก ดูแล้วค่อนข้างแปลกตา รูปทรงตัวอาคารเป็นแบบ Double Cone โครงสร้างทำจากเหล็กติดกระจกช่วยให้แสงสว่างเข้าถึง ส่วนหลังคา สถาปนิกต้องการดีไซน์ให้เหมือนก้อนเมฆ และฝังแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 800 kW จึงช่วยปรับอุณหภูมิภายในอาคารให้รู้สึกสบายขึ้น แถมสร้างมาเพื่อให้ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุด ดังนั้นนอกจากจะใช้พลังงานภายในอาคารได้แล้ว ยังเหลือพอสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับเข้าสู่เมืองด้วย

ภาพประกอบโดย  Prahran Hotel www.archdaily.com

Prahran Hotel

Prahran Hotel ตั้งอยู่ที่ วิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นโรงแรมที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก โดยมีพื้นที่เพียง 550 ตารางเมตร  ซึ่งได้ต่อเติมปรับปรุงให้มีฟังก์ชั่น ผับ เพิ่มขึ้นมา โดยมีขนาดทั้งหมด 2 ชั้น  นับเป็นผลงานการออกแบบที่น่าสนจากสตูดิโอสถาปัตย์ Techne Architecture + Interior Design ด้วยแนวคิดการออกแบบ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานสถาปัตยกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งได้สอดแทรกศิลปะอันโดดเด่นเข้าไปในการออกแบบ ด้วยการสร้างช่องเปิดผนังแบบซุ้มโค้ง ซึ่งทำจากท่อคอนกรีตขนาดยักษ์ ที่ติดตั้งวางซ้อนกันขึ้นไปในจังหวะที่สวยงาม อย่างพอเหมาะพอดี ซึ่งได้กลายเป็นที่ฮือฮา กับความแปลกตาไม่น้อยของผู้ที่ได้พบเห็น  สะดุดตา โดยคอนเซ็ปต์ของการตกแต่งผับแห่งนี้จะเน้นไปที่การนำวัสดุรีไซเคิลมาผนมผสานกันอย่างมีสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำขนาดต่างๆ ที่นำมาสร้างสรรค์เป็นเคาน์เตอร์บาร์ ท่อคอนกรีตขนาดใหญ่ที่นำมาตกแต่งเป็น Facade สวยเก๋ และที่นั่งสุดเท่ บานเกล็ดไม้ที่นำมาใช้ตกแต่งผนังของร้าน และแผ่นฉนวนซึมซับเสียงที่นำมาปูเป็นทางเดินภายในร้าน ซึ่งดีไซน์ออกมาได้บรรยากาศน่านั่ง

ภาพประกอบ mediopadana-station  https://parametric-architecture.com

Mediopadana Station

สถานี Mediopadana เป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงแห่งใหม่ในประเทศอิตาลี สายมิลาน-โบโลญญา ที่ออกแบบขึ้นโดยสถาปนิกชาวสเปน Santiago Calatrava ด้วยบทบาทศูนย์กลางเมืองสำหรับการขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคที่เชื่อมระหว่างเมือง และส่วนอื่นๆ ของโลกฟาซาดของอาคารเป็นโครงสร้างเหล็กที่ออกแบบให้มีจังหวะซ้ำไปมาของส่วนโค้งที่ลื่นไหล ราวกับเกลียวคลื่นที่กระจายตัวออก โมดูลที่ยาว 25.4 เมตรจะประกอบด้วยเหล็ก 25 แท่งที่ต่อเนื่องกันโดยเว้นระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร ซ้ำไปมาเป็นจังหวะ โดยทั้งหมดมีความยาวรวม 483 เมตร เส้นคลื่นที่เกิดขึ้นบริเวณแปลนพื้นและความสูงทำให้เกิดปริมาตรของอาคารในแบบสามมิติ เสริมด้วยหลังคาและซุ้มกระจก ที่เกิดขึ้นจากการวางกระจกลามิเนตระหว่างเหล็กโดยใช้กรอบอลูมิเนียมซึ่งครอบคลุมความยาวทั้งหมดของชานชาลา เมื่อเรายืนอยู่ภายใน จึงเกิดความเคลื่อนไหวจากรูปทรง และแสงเงาได้อย่างมีมิติ

ภาพประกอบ Hengqin International Financial Center https://www.wazzadu.com/

Hengqin International Financial Center

อาคารระฟ้า 339 เมตรที่เราเห็น คือ ศูนย์การเงินระหว่างประเทศ Hengqin ที่ตั้งอยู่ในเมืองจูไห่ ประเทศจีน ความสูงเสียดฟ้าเป็นสัญลักษณ์ที่พาให้ผู้คนก้าวออกนอกกรอบเดิมๆ โดยได้สถาปนิก AEDAS เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ บริเวณด้านล่างของอาคารออกแบบในลักษณะเกลียวที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ แม่น้ำและเมืองมาเก๊า นอกจากนั้นการออกแบบที่สูงตระหง่านยังสะท้อนถึงตำนานมังกรที่โผล่ออกมาจากทะเลของจีน ซึ่งเป็นคำอุปมาที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและพลังของพื้นที่อันกว้างใหญ่ ด้วยสภาพภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนของจูไห่ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มักจะเกิดลมกรรโชกแรงในช่วงฤดูพายุไต้ฝุ่น ซึ่งอาจทำให้อาคารสูงระฟ้ามีการสั่นคลอนจากแรงลม ทีมออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการปรับทิศทาง ทางเข้าของอาคารด้วยการออกแบบเกลียวคลื่นจากโครงสร้างพาราเมตริกเพื่อลดแรงลม รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างและประสบการณ์ของคนเดินเท้า

amazing architecture สร้างสถาปัตยกรรมยังไง ให้โลกจำ งานสถาปัตยกรรมที่สวยงามและสื่อสารความรู้สึกผ่านแนวคิด และสร้างสรรค์ของสถาปนิกและวิศวกร สามารถดึงความสนใจของคนทั้งโลก และเป็นการแสดงศักยภาพของผู้ออกแบบและก่อสร้าง และยังเป็นจุดศูนย์รวมของผู้คน ใช้เยี่ยวยาจิตใจก็ว่าได้ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับงานสถาปัตยกรรมที่เรานำมาฝากกัน เก็บเป็นไอเดียและเสมือนได้พาทุกท่านไปท่องเที่ยว ให้ผ่อนคลายจากเรื่องของโควิด-19 ในช่วงนี้ ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย

Data&Photo :
https://parametric-architecture.com/bahai-temple-hariri-pontarini-architects-awaken-a-novel-spiritual-vision/
https://parametric-architecture.com/bahai-temple-hariri-pontarini-architects-awaken-a-novel-spiritual-vision/
https://parametric-architecture.com/mediopadana-station-by-santiago-calatrava/
https://www.arch2o.com/mediopadana-station-santiago-calatrava/
https://www.wazzadu.com/

Cover Photo sebastián wilson león