Olympic Games Tokyo 2020 ญี่ปุ่นเจ้าแห่งความละเอียดและความคิดสร้างสรรค์

Olympic Games Tokyo 2020 ในคอนเซ็ปต์ Environment Sustainability ความยังยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากที่จะเลื่อนเวลามาหลายเดือน กับประเด็นความน่าเป็นห่วงในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19, พิธีเปิดที่เต็มไปด้วยความอลังการของความคิดสร้างสรรค์ขั้นสุด สถาปัตยกรรมต่างๆ ไปจนถึงไอเท็มที่ปรากฏในการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้ล้วนแล้วแต่ถูกประดิษฐ์ ก่อสร้าง และสร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิด Sustainability ญี่ปุ่นเจ้าแห่งคอนเซ็ปต์และรายละเอียดความคิดสร้างสรรค์ ที่คุณต้องไม่พลาด ที่จะสร้างไอเดีย และเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ผลงานให้คุณ

Photo : https://olympics.com/tokyo-2020/en/news/tokyo-2020

“Be better, together – for the planet and the people” 

สโลแกนปีนี้คือ แนวคิดเป็นมิตรกับธรรมชาติ ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังต้องการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้ร่วมตระหนักในแนวคิดนี้ ด้วยการสร้างสรรค์ไม่ว่าจะ เหรียญรางวัลกว่า 5,000 เหรียญ ที่ถูกมอบให้นักกีฬานั้นผลิตขึ้นมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และอีกมากมาย ที่ถูกรวบรวมมาจากชุมชมในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 1,621 ชุมชน โดยใช้เวลานานกว่า 2 ปีในการรวบรวม คบเพลิงเกียรติยศที่ถูกใช้ในพิธีเปิด ก็ผลิตขึ้นมาจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่เคยใช้สร้างเป็นที่พักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2011 โดยออกแบบเป็นรูปร่างของดอกซากุระบาน ไฟบนคบเพลิงในครั้งนี้เป็นไฮโดรเจน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เสื้อผ้านักกีฬาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากพลาสติกรีไซเคิลจากบริษัทน้ำอัดลมชื่อดังอย่าง Coca-Cola, แท่นรางวัลที่ทำขึ้นมาจากขยะพลาสติกทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 24.5 ตัน โดยได้ความร่วมมือจากโรงเรียน ร้านอาหาร ไปจนถึงองค์กรต่างๆ หรือกระทั่งสนามแข่งขันกีฬาภายในสเตเดียมครั้งนี้ ที่มีความน่าสนใจมากตามาดูกัน

Photo : https://olympics.com/tokyo-2020/en/news/tokyo-2020-unveils-village-plaza

Village Plaza

อาคาร Village Plaza ถูกออกแบบ และสร้างขึ้น บนพื้นที่ใช้สอยขนาด 5,300 ตรม. เพื่อใช้งานเป็นพื้นที่สันทนาการส่วนกลาง ของหมู่บ้านนักกีฬา รองรับนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสื่อมวลชน คนทั่วไป โดยประกอบไปด้วยพื้นที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ธนาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ พื้นที่พาณิชย์ ร้านค้าต่างๆ พื้นที่สื่อ รวมถึงพื้นที่ทางการแพทย์ มีแนวคิดในการสร้างเป็นอาคารชั่วคราว โดยออกแบบรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีความเป็นเอกลักษณ์แบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น มีความทันสมัยตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และแน่นอน ญี่ปุ่นต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับโอลิมปิกครั้งนี้ ไม้ทั้งหมดที่ใช้สร้างอาคาร ไม้จำนวนกว่า 40,000 ชิ้น จึงถูกนำมาจากเมืองต่างๆ ที่ทำอุตสาหกรรมไม้ในประเทศ ทั้งหมด 63 แห่ง ด้วยการ “ขอยืม” เมื่อเสร็จสิ้นโอลิมปิคครั้งนี้ ก็จะรื้อถอน และคืนกลับไปยังต้นทาง ให้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นในโครงการของสาธารณะ ตามแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ต่อไป ไม้แต่ละท่อนที่นำมาใช้นั้น มีการประทับตรา ของแต่ละแห่ง รู้ว่ามาจากจังหวัดไหน ภูมิภาคไหน บนสถาปัตกรรมนี้ จึงไม่ได้แสดงตัวตนว่าทำมาจากไม้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสื่อถึงความหลากหลาย ที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันของญี่ปุ่น

แนวคิดเรื่อง การนำกลับมาใช้ใหม่ และความเป็นหนึ่งเดียวกันที่แสดงออกในงานสถาปัตยกรรมแล้ว ตัวอาคารยังแสดงความประณีตของงานไม้ญี่ปุ่น ด้วยเทคนิค และภูมิปัญญาในงานช่างไม้ของญี่ปุ่นถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่มีวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน ไม้แต่ละชิ้นที่ถูกคัดสรรมาจากแต่ละแห่ง นอกจากเอกลักษณ์ของเนื้อไม้แล้ว ยังมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ที่ทำให้ผ่อนคลาย และทำให้คนเข้าถึงความเป็นธรรมชาติได้ในทุกมิติ

Photo : www.musamori-plaza.com

สนามกีฬา สุดรักษ์โลก

Musashino Forest Sports Plaza สนามกีฬา….จากคอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล สถานที่ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาฟันดาบและแบดมินตัน Musashino Forest Sports Plaza ใช้คอนกรีตจากมวลรวมรีไซเคิล (Recycled Aggregate Concrete) เพื่อลดปริมาณเศษวัสดุคอนกรีตจากการก่อสร้าง รวมถึงการใช้เหล็ก กระเบื้องและพื้นไวนิลรีไซเคิล Oi Hockey Stadium สนามสำหรับใช้แข่งขันกีฬาฮอกกี้ ใช้หญ้าเทียมที่ทำมาจากเส้นใยของอ้อยที่เหลือทิ้งจากการเกษตร ทำให้ช่วยลดการใช้น้ำลง และยังมีสนามกีฬาอื่นๆอีก 5 แห่ง ที่นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการก่อสร้าง คือ Ariake Arena, Sea Forest Waterway, Tokyo Aquatics Centre, Kasai Canoe Slalom Centre และ Yumenoshima Park Archery Field สมกับเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดในการจัดงาน “Be better, together – for the planet and the people”

New National Stadium

สร้างบนพื้นที่ของสนามกีฬาเก่าที่ใช้ในปี 1964  สนามกีฬาใหม่นี้มีความจุถึง 68,000 ที่นั่ง และจะใช้เป็นอาคารหลักสำหรับพิธีเปิดและปิดของงานโอลิมปิก รวมไปถึงการแข่ง Football และรายการวิ่งต่างๆ อาคารมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญนี้ ถูกออกแบบโดย Kengo Kuma สถาปนิกผู้โด่งดังในเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติ อาคารทรงวงรีมีที่นั่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แรงบรรดานใจมาจากสถาปัตยกรรมแบบญุี่ปุ่นผสมผสานระหว่างเหล็กและโครงสร้างตาข่ายไม้ (lattice) ไม้ที่ใช้ในการสร้างถูกนำมาจาก 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น อาคารของ Kengo Kuma สร้างเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2019 ก่อนกำหนดการเปิดงานเดิม ถึง 8 เดือน

Olympic Games Tokyo 2020 ญี่ปุ่นเจ้าแห่งความละเอียดและความคิดสร้างสรรค์ ญี่ปุ่นเจ้าแห่งไอเดีย และความละเอียดทุกมิติ ถูกคิดแล้วคิดอีก และถูกสร้างสรรค์ออกมาได้สมศักดิ์ศรีของเจ้าภาพ แม้จะถูกเลื่อนออกมาด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในคอนเซ็ปต์ Environment Sustainability ความยังยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ที่เพิ่มมูลค่าให้ทุกอย่างผ่านเรื่องราว ไอเดีย ทั้งไอเทมต่างๆ และงานสถาปัตยกรรม 

Data : https://olympics.comwww.vogue.co.th , www.blockdit.com , https://thaibim.net , www.theb1m.com