Cellular & Castellated Beam โครงสร้างเหล็กรับแรงได้มากขึ้นในราคาที่ลดลง
ทำไมต้องเป็น Cellular & Castellated Beam เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กนั้นมีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาดของหน้างาน ความรวดเร็วของการก่อสร้างซึ่งส่งผลให้ลดต้นทุนในส่วนของค่าแรงได้ และอื่นๆอีกมากมาย Cellular & Castellated Beam คือเทคนิคการแปรรูปเหล็กรูปพรรณรีดร้อนหน้าตัด H-Beam เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของหน้าตัดให้สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างอาคารได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำ เหล็กรูปพรรณรีดร้อนหน้าตัด H-Beam มาตัดบริเวณเอว (Web) และเชื่อมประกอบเหล็กใหม่ ทำให้มีการใช้เนื้อวัสดุที่น้อยลงแต่รับแรงได้มากขึ้นเนื่องจากหน้าตัดของคานที่สูงขึ้น ถือเป็นวัสดุที่น่าสนใจจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้นมาติดตามกัน
Cellular Beam และ Castellated Beam ต่างกันอย่างไร
เหล็กรูปพรรณรีดร้อนหน้าตัด H-Beam ที่ถูกแปรรูปให้มีช่องเปิดเป็นรูกลมจะเรียกว่า “Cellular Beam” หรือบางคนก็เรียกว่า “Circular Opening Beam” ส่วนเหล็กรูปพรรณรีดร้อนหน้าตัด H-Beam ที่ถูกแปรรูปให้มีช่องเปิดเป็นรูปหกเหลี่ยม จะเรียกว่า “Castellated Beam” หรือ “Hexagonal Opening Beam” ซึ่งทั้งสองรูปแบบนั้นแตกต่างกันเพียงแค่รูปทรงของช่องเปิดเท่านั้น ไม่แตกต่างกันในเรื่องของการรับแรงแต่อย่างใด โดยการออกแบบหน้าตัดนั้นวิศวกรโครงสร้างจะเป็นผู้กำหนด “องศาของมุมตัด” หรือ “รัศมีความโค้ง” และ “ระยะห่างระหว่างช่องเปิด” เพื่อให้เหมาะสมกับการรับแรงของโครงสร้าง ให้เหมาะสมกับรูปแบบโครงสร้างอาคารก่อนดำเนินการแปรรูป เพื่อนำไปประกอบติดตั้ง หรือหากลูกค้าต้องการให้แปรรูปตามแบบที่ต้องการก็สามารถทำได้เช่นกัน
Cellular Beam & Castellated Beam สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในลักษณะของคานรับพื้น (Floor Beam) และ โครงสร้างหลังคา (Roof Beam) ซึ่งหากใช้เป็นโครงสร้างหลังคานั้นจะสามารถเพิ่มพื้นที่ (Space) ให้กับอาคาร ทำให้รู้สึกโล่งโปร่งมากยิ่งขึ้นจากการที่สามารถเดินท่องานระบบต่างๆผ่านช่องเปิดได้โดยไม่ต้อง เดินอ้อมใต้ท้องคานทำให้ได้ระยะพื้นถึงท้องฝ้า (Floor to Ceiling) มากขึ้น และเมื่อเทียบกับระบบโครงถัก (Truss) Cellular Beam & Castellated Beam ก็จะมีขนาดโครงสร้างที่เล็กกว่าและดูสวยงามมากกว่า การที่น้ำหนักโครงสร้างน้อยลงนั้นแน่นอนว่าจะทำให้น้ำหนักของตัวอาคารน้อยลงไปด้วย ส่งผลตรงต่อการคำนวณและออกแบบฐานราก นั่นหมายความว่าเราจะสามารถลดต้นทุนทั้งในส่วนของ โครงสร้างและฐานรากไปได้ในคราวเดียวกัน ทำให้สามารถลดต้นทุนการก่อสร้างได้ถึง 10-20% เลยทีเดียว
Cellular Beam เหมาะกับการใช้เป็นโครงสร้างอาคารแบบไหน?
- สำนักงาน เราสามารถใช้คาน Cellular Beam ทำเป็นพื้นที่สำนักงานได้ดี เพราะช่วยเอื้ออิสระในการใช้พื้นที่ได้มากขึ้น โดยมีเสากั้นขวางในพื้นที่น้อย
- โชว์รูมคาน Cellular Beam ช่วยสร้างพื้นที่ใช้สอยได้มาก ซึ่งเหมาะสมกับการใช้เป็นพื้นที่แสดงสินค้าหรือโชว์รูมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะช่วยเปิดมุมมองกว้างขวาง และขนส่งสินค้าทั้งชิ้นใหญ่และเล็กได้ง่ายด้วย
- อาคารจอดรถ พื้นที่ใช้สอยกว้างขวางจากการใช้คาน Cellular Beam ทำให้เหมาะกับการทำเป็นที่จอดรถหรืออาคารจอดรถ และคุณสมบัติของ Cellular Beam ยังเอื้อให้ใช้ประโยชน์จากช่องเปิดบนคานร้อยงานระบบผ่านได้ด้วย
- โถงอเนกประสงค์ โถงอเนกประสงค์ในโรงเรียน สำนักงาน หรืออาคารราชการใดๆ ย่อมต้องการพื้นที่โถงโล่งกว้างเพื่อจุดประสงค์หลากหลาย คาน Cellular Beam ก็เอื้อให้การสร้างพื้นที่นั้นเป็นไปได้อย่างเหมาะสม
ถือเป็นวัสดุน่าน่าสนใจ โครงสร้างเหล็กรับแรงได้มากขึ้นในราคาที่ลดลง Castellated Beam & Cellular Beam มักจะนิยมนำไปใช้ในงานโครงสร้างเหล็ก ที่ต้องการลดต้นทุนในการซื้อเหล็กรูปพรรณแบบปกติมาใช้ทำเป็น เสา คาน และโครงหลังคา ของอาคาร เพราะการออกแบบใช้งานโครงสร้างเหล็ก Castellated Beam & Cellular Beam ปริมาณน้ำหนักของตัวอาคารเหล็กจะน้อยกว่า การออกแบบใช้งานเหล็กรูปพรรณแบบปกติประมาณ 20 % อีกทั้งยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจากการทำงานโครงสร้าง Castellated Beam & Cellular Beam อาทิเช่น ค่าแรงตัด เจาะ ดัดโค้ง เชื่อมประกอบ โครงสร้าง ค่าทำสีกันสนิม ค่าขนส่ง ลดลงตามน้ำหนักเหล็กในโครงการที่มีใช้น้อยลงด้วย และที่สำคัญโครงการของคุณจะสมบูรณ์แบบต้องได้รับคำแนะนำจากวิศวกร ที่เชี่ยวชาญด้านงานโครงสร้างควบคุมดูแล นอกจากจะทำให้โครงการไม่มีปัญหาแล้วนั้นยังสามารถควบคุมระยะเวลาและงบประมาณให้เป็นไปตามที่คุณต้องการนั้นเอง สามารถเจาะลึกเรื่องโครงสร้างเหล็กได้อีกหลายบทความของเรา เช่น การออกแบบโครงสร้างอาคารในยุค New Normal
Data : www.hbeamconnect.com
Photo : www.syssteel.com