Safety First ทำงานบนที่สูงอย่างไร ให้ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง

ช่วงนี้เดียวร้อนเดียวฝน ต้องระวังในหลายเรื่องทั้งเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางและสุขภาพ และสำหรับการทำงานในสภาพอากาศแบบนี้แน่นอนว่า ความปลอดภัยคือเรื่องสำคัญ ยิ่งสำหรับช่างที่ต้องทำงานอยู่หน้างาน โดยเฉพาะเมื่อต้องปีนป่ายอยู่บนโครงสร้างที่สูงจากระดับพื้นดิน อากาศแบบนี้แม้ว่าในการทำงานจริงอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยากแต่ก็ควรต้องรู้ข้อปฏิบัติตัวในการทำงานเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการทำงานบนที่สูง และเพิ่มความปลอดภัยทั้งต่อตัวช่างและผู้ร่วมงานในระหว่างการก่อสร้าง เจ้าของโครงการหรือผู้ว่าจ้างจึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับ “มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง” มาดูกันว่าทำงานบนที่สูงอย่างไร ให้ปลอดภัยและสามารถลดปัจจัยเสี่ยง

มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง

การทำงานบนที่สูง หมายถึง การทำงานในที่สูงจากพื้นดินหรือพื้นอาคารตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป ตาม “กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 หมวด 11”   โดยหากทำงานบนที่สูงเกิน 2 เมตรจะต้องมีการป้องกันการตกหล่น และมีการติดตั้งนั่งร้าน และหากเกิน 4 เมตรขึ้นไป ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสวมใส่เข็มขัดนิรภัยหรือสายช่วยชีวิต โดยต้องมีตาข่ายนิรภัยรองรับและมีราวกันตก โดยผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก และควรมีมาตรการให้ผู้ปฏิบัติงานได้ฝึกอบรมก่อนเริ่มทำงานบนที่สูง ทั้งเรื่องความปลอดภัย และการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้อง

ป้องกันตนเองและตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ก่อนขึ้นทำงานบนที่สูง ผู้ปฏิบัติงานควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้เรียบร้อย หากทำงานอยู่ด้านบนต้องติด Safety Belt ตลอดเวลา ซึ่งควรตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันการตกให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และต้องทำการทดสอบอุปกรณ์เป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรณีของราวบันไดจะต้องมีการตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีความมั่นคงแข็งแรง

จัดพื้นที่ทำงาน

บนโครงเหล็กจะต้องมีการติดตั้งเชือกนิรภัย (Life Line) สำหรับยึดเกาะ Safety Belt ได้ตลอดเวลา และตรวจสอบจุดยึดเชือกช่วยชีวิตให้มีความมั่นคงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของผู้ปฏิบัติงานด้านบนหากร่วงหล่นลงมาได้ ควรติดตั้งนั่งร้านให้เหมาะกับระดับความสูงสำหรับการทำงาน และดูแลบริเวณพื้นที่ทำงานก่อสร้างให้ปราศจากปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงต่อการสะดุดหรือลื่นล้มควรติดตั้งตาข่ายเพื่อรองรับกรณีผู้ปฏิบัติงานพลัดตกลงมา นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันของที่จะร่วงลงมาใส่ผู้ปฏิบัติงานคนอื่นได้ แต่หากไม่ติดตั้งตาข่ายจะต้องกั้นบริเวณห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่ที่มีการทำงานด้านบนอยู่ พร้อมกับการติดตั้งป้ายแสดงชัดเจนว่ามีการทำงานบนที่สูง เพื่อสื่อสารแก่บุคคลอื่นได้รับทราบ

ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย

การป้องกันอันตรายจากการร่วงหล่นของวัสดุในพื้นที่ปฏิบัติงาน

  • อุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ควรใส่ในภาชนะที่แข็งแรง
  • วัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดต้องไม่วางกีดขวางทางเดิน
  • จัดเก็บเศษวัสดุที่เหลือใช้ในภาชนะที่แข็งแรง
  • จัดเก็บทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง
  • ใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงาน
  • ใช้เชือกผูกรัดเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน
  • ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์อย่างถูกวิธี

การป้องกันอันตรายจากการสะดุด ลื่นล้ม บนพื้นที่ทำงาน

  • วัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดจะต้องไม่วางกีดขวางทางเดิน
  • สายไฟ สายยาง ห้ามลากผ่านพื้นทางเดิน
  • บริเวณช่องทางขึ้น-ลงบันได ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
  • พื้นที่ทำงานต้องมีราวกันตก และแผ่นกันของตก
  • พื้นที่ทำงานต้องไม่เปียกแฉะ
  • พื้นที่ทำงานจะต้องไม่มีคราบน้ำมัน จารบี
  • พื้นทางเดินต้องเรียบเสมอกัน
  • จัดเก็บทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันอันตรายจากการตกในการเดิน เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน

  • มีราวกันตก หรือเชือกนิรภัยยึดติดกับโครงสร้างโดยรอบ
  • มีทางเดินชั่วคราวพร้อมราวกันตก
  • ติดตั้งตาข่ายนิรภัยยึดติดกับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง
  • ปิดกั้นบริเวณด้านล่างพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • จัดเตรียมนั่งร้าน หรือเครื่องจักรกลที่กำหนดไว้ในแผนงาน
  • สวมใส่ และใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกตลอดเวลา
  • ห้ามเคลื่อนย้ายร่างกายบนที่สูง โดยปราศจากการเกาะเกี่ยวเข็มขัดนิรภัย

การป้องกันอันตรายจากการตกในงานติดตั้งหลังคาที่มีความลาดเอียง

  • ทำราวกันตก หรือเชือกนิรภัยยึดติดกับโครงสร้างโดยรอบ
  • ติดตั้งตาข่ายนิรภัยยึดติดกับโครงสร้างที่มั่นคง
  • ล้อมด้านล่างพื้นที่ปฏิบัติงาน
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตก
  • มีการจัดวางวัสดุ และจัดทางผ่านที่ปลอดภัย
  • จัดเก็บเศษวัสดุ เมื่อมีการเปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน
  • มีการตรวจสอบดูแลตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน
  • มีอุปกรณ์สื่อสาร และแผนการช่วยเหลือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

การป้องกันอันตรายจากการตกในพื้นที่ที่เป็นสันขอบอาคาร และพื้นที่เปิดโล่ง

  • จัดทำราว หรือรั้วปิดกั้นที่มั่นคง แข็งแรงโดยรอบ
  • ใช้สีแสดงให้เห็นเด่นชัดในระยะไกล
  • ติดตั้งตาข่ายนิรภัย
  • จัดให้มีป้าย และสัญลักษณ์เตือนภัย
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตก
  • มีแผนการช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ความปลอดภัยขณะการทำงานบนที่สูงเป็นเรื่องสำคัญ การทำงานต้องมีการป้องกันและระมัดระวังอยู่เสมอ และการเตรียมพร้อมก่อนการทำงาน สุขภาพร่างกาย ชุดปฏิบัติงาน อุปกรณ์ป้องกัน พื้นที่หน้างานต้องมีความเรียบร้อย ต้องพร้อมอยู่เสมอ ทีมงานทุกคนในโครงการต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นอันดับแรก เพราะอุบัติเหตุของการตกจากที่สูง มีผลร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของตัวช่างผู้ปฏิบัติงานเอง และกระทบต่อนายจ้างและผู้เป็นเจ้าของโครงการด้วย ฉะนั้น การดำเนินงานต้องมีมาตรฐานในด้านของความปลอดภัยควบคุมอยู่เสมอ  และต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด งานโครงสร้างเหล็ก ไม่ว่าจะเป็น คลังสินค้า อาคาร ต้องมีทีมช่างผู้เชี่ยวชาญ ในการทำงานบนที่สูง และเราให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

Data : http://www.tosh.or.th, www.hbeamconnect.com

Cover Photo : www.ksgroup-metalsheet.com