มาตรฐานแสงสว่าง ในโรงงาน และ คลังสินค้า ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความเข้มแสง การควบคุมแสง ทิศทางของแสง ความเพียงพอของการส่องสว่าง โดยจะส่งผลให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและมีสินค้าที่มีคุณภาพอีกด้วย

มาตรฐานแสงสว่าง ในโรงงาน และ คลังสินค้า

มาตรฐานของแสงสว่าง คืออะไร

แสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นในการมองเห็นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในแต่ละพื้นที่ ก็มีการใช้งานแตกต่างกัน ย่อมต้องการความเข้มแสงที่แตกต่างกัน แสงสว่างภายในคลังสินค้า และ โรงงาน ก็เป็นเช่นเดียวกัน

1.  การมีระดับการส่องสว่างที่เพียงพอ

เราต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพเรื่องการมองเห็น เพราะแสงสว่างนั้นจะต้องเกิดความสบายตาในขณะที่ทำงาน ไม่ให้สว่างมากหรือน้อยจนเกินไป เพราะถ้าพื้นที่งานมีแสงน้อยจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสายตา ทำให้กล้ามเนื้อตาใช้งานมากเกินไป ซึ่งเกิดจากการเพ่งมอง จนทำให้ตาเมื่อยล้า มึนศีรษะ จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และหากมีแสงส่างมากเกินไป จำทำให้ไม่สบายตา ปวดหรือแสบตา จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

สำหรับการจัดแสงสว่างในคลังสินค้าหรือสถานที่ทำงานนั้นๆ อย่างเหมาะสมต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเลือกระบบแสงสว่างและแหล่งกำเนิดแสงสว่าง และลักษณะห้องหรือพื้นที่ใช้งาน รวมทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณของแสงสว่าง ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาระบบแสงสว่าง ถ้าหากมีแสงสว่างในสถานที่ทำงานไม่เพียงพอสามารถเลือกพิจารณาแก้ไขตามความเหมาะสม ได้แก่

  • ติดตั้งดวงไฟ เพิ่มเฉพาะจุดที่มีการทำงานเป็นพิเศษ ใช้งานเท่าที่จำเป็น
  • ลดระดับความสูงของดวงไฟ ให้อยู่ในระยะที่มีความแสงสว่างเพียงพอ
  • ใช้โคมไฟที่ทาด้วยสีเงิน หรือสีขาว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงได้ดี จะช่วยเพิ่มแสงสว่าง
  • เปลี่ยนตำแหน่งการทำงานไม่ให้อยู่ในตำแหน่งที่มีเงา หรือเกิดเงาจากตัวผู้ปฏิบัติงาน
  • ใช้แสงจากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความสว่างและสบายตามากขึ้น
  • สีของผนัง ฝ้าเพดานที่มีสีอ่อนจะสะท้อนแสงได้ดีกว่าสีมืดทึบ
มาตรฐานของแสงสว่างในคลังสินค้า ขนาดพื้นที่ 7,600 ตร.ม.

มาตรฐานของแสงสว่างในคลังสินค้า ขนาดพื้นที่ 7,600 ตร.ม.

2. การมีความสม่ำเสมอของการส่องสว่าง และความสว่าง

ความสม่ำเสมอของการส่องสว่าง ในคลังสินค้าหรือพื้นที่ทำงาน ควรอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ ยกเว้นบริเวณที่ได้รับแสงธรรมชาติจากทางหน้าต่าง ซึ่งความส่องสว่างจะลดลงอย่างมากเมื่ออยู่ถัดเข้าไปภายในจากบริเวณริมหน้าต่าง ทำให้มีความสม่ำเสมอของความส่องสว่างต่ำ อย่างไรก็ตามข้อดีของการได้รับแสงธรรมชาติ สามารถชดเชยความไม่สม่ำเสมอนี้ได้

3. สีที่เหมาะสำหรับการมองเห็น

การเลือกลักษณะสีอาจขึ้นกับระดับความส่องสว่าง สีของห้องและเฟอร์นิเจอร์ ภูมิอากาศ การใช้งานและความคมชัดในการมองเห็น ที่ส่งผลให้สีของสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้า ดูเป็นธรรมชาติ เพื่อให้มีความสามารถในการมองเห็น เกิดความสบายตา และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ยกตัวอย่างการใช้หลอดไฟ 3 แบบ อันได้แก่ Warm White, Cool White, Daylight White

การวัดแสง (ลักซ์) ความสว่างของหลอดไฟแต่ละประเภท

ความสว่างของหลอดไฟ สามโทนสี Warm White, Cool White, Daylight White

  • หลอดไฟ Warm White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 2500-3300 เคลวิน ให้แสงในโทนส้ม ช่วยให้รู้สึกถึงความอบอุ่น
  • หลอดไฟ Cool White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 4000 เคลวิน ให้แสงขาวสว่างสดใสในโทนอุ่น อยู่ในช่วงกึ่งกลางระหว่าง Warm White และ Daylight White
  • หลอดไฟ Daylight White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 6000-6500 เคลวิน ให้แสงขาวในโทนฟ้า สว่างสดใส ช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงนอนง่าย

4. การควบคุมแสงบาดตา

แสงบาดตา เกิดจากแสงจ้า ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการที่ในบริเวณการมอง มีพื้นผิวหรือสิ่งที่มีความสว่างจ้ามากเกินไป ซึ่งควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากจะทำให้เกิดความเมื่อยตา อาจเกิดความผิดพลาด หรือ
เกิดอุบัติเหตุได้ แสงจ้าอาจเกิดได้หลายลักษณะทั้งจากแสงไฟฟ้าหรือแสงธรรมชาติ

  • เกิดจากการมองเห็นแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง เรียกว่า “แสงจ้าโดยตรง” (direct glare) เช่น การมองเห็นหลอดไฟโดยตรง หรือการมองเห็นแสงสว่างจากช่องหน้าต่าง
  • เกิดจากแสงสะท้อนจากพื้นผิวที่มีความมันวาว เรียกว่า “แสงจ้าสะท้อน” (reflected glare) เช่น การมองเห็นแสงสะท้อนของดวงอาทิตย์บนกระจกเงา
  • แสงจ้าที่ทำให้เกิดความไม่สบายตา เรียกว่า “แสงจ้าระคายตา” (discomfort glare)
  • แสงจ้าที่ทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็น เรียกว่า “แสงจ้าพร่านัยน์ตา” (disability glare) สำหรับพื้นที่ภายในอาคาร แสงจ้าพร่านัยน์ตามักไม่เป็นปัญหาเมื่อมีการจำกัดแสงจ้าระคายตาในระดับที่เหมาะสม

5. ทิศทางของแสง

การที่แสงส่องสว่างไปในทิศทางหนึ่ง สามารถมองเห็นงานโดยละเอียดมากขึ้น และทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ต้องระวังเรื่องการเกิดการสะท้อนบดบังและแสงจ้าสะท้อนที่ไม่พึงปรารถนา นอกจากนี้ควรต้องหลีกเลี่ยงเงาเข้มที่รบกวนงานที่ใช้สายตา

จากที่กล่าวมา การให้แสงสว่างที่ดีต่อคลังสินค้าหรือที่ทำงานถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของสินค้าภายในคลังสินค้ารวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย ถ้ามีการส่องว่างที่เพียงพอและถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งคนทำงานและสินค้าด้วย

การวัดแสง ค่าความสว่าง (ลักซ์)

ภายนอกอาคาร

  • 50 Lux – ลานจอดรถ
  • 21 Lux – ถนน

ภายในอาคาร

  • 100 Lux – ทางเดิน บันได และ ห้องน้ำ
  • 200 Lux – คลังสินค้า
  • 300 Lux – โรงอาหาร และ พื้นที่สำหรับงานหยาบ เช่น เตรียมวัสถุดิบ บรรจุสินค้า
  • 400 Lux – ออฟฟิศ
  • 500 Lux – งานปานกลาง เช่น ประกอบรถยนต์ งานพ่นสี
  • 800 Lux – งานละเอียด เช่น งานตรวจสอบคุณภาพ งานคัดแยกและเทียบสีหนัง
  • 1,200 Lux – งานละเอียดสูงมาก เช่น งานตรวจสอบชิ้นส่วนขนาดเล็ก

กฎหมายค่ามาตรฐานความเข้มแสงสว่าง (Lux output) 2561

อ้างอิงตามกฎกระทรวง กําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559

หมวด 2 แสงสว่าง ข้อ ๔ นายจ้างต้องจัดให้สถานประกอบกิจการมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำากว่ามาตรฐาน ที่อธิบดีประกาศกําหนด

Key takeaway

มาตรฐานแสงสว่าง ที่ดีในคลังสินค้า จำเป็นต้องคำนึงถึง 5 ปัจจัยดังนี้

  1. การมีระดับการส่องสว่างที่เพียงพอ
  2. การมีความสม่ำเสมอของการส่องสว่างและความสว่าง
  3. สีที่เหมาะสำหรับการมองเห็น
  4. การควบคุมแสงบาดตา
  5. ทิศทางของแสง

อ้างอิงจาก : www.meaenergysavingbuilding.net , www.tieathai.org, chinpower.net