Flooring material รวมทุกเทคนิคเรื่อง วัสดุปูพื้น รู้แล้วเลือกไม่พลาด

วัสดุสำหรับปูพื้นนั้นมีหลากหลายแบบในปัจจุบัน ควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน รูปแบบการตกแต่ง เหมาะกับห้องแต่ละห้อง เพราะผิวสัมผัส ความรู้สึกนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การติดตั้งต่างต้องใช้ความชำนาญของช่างและความละเอียดในการตรวจเช็คหน้างานของนักออกแบบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อให้ได้พื้นที่สวย สมบูรณ์แบบ สำหรับเจ้าของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน พื้นอาคาร ออฟฟิศ ต่างต้องมีความสวยงามลงตัว ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนจะตัดสินใจเลือกวัสดุปูพื้น เพราะหากเลือกผิด ต้องกลับมาแก้ไขจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณบานปลาย ได้พื้นที่ไม่สวยสมใจ มาติดตามกันเรารวมทั้งเทคนิคการเลือกวัสดุปูพื้นในแต่ละห้อง ข้อดีข้อเสียของแต่ละชนิด รวมไปถึงเทคนิคการติดตั้งมาฝากกัน อ่านบทความนี้แล้วคุณจะได้เลือกพื้นที่สวยสมใจอย่างแน่นอน Flooring material รวมทุกเทคนิคเรื่อง วัสดุปูพื้น รู้แล้วเลือกไม่พลาด

เลือกวัสดุปูพื้นห้องแต่ละห้องยังไงดี

ห้องนั่งเล่น บรรยากาศภายในห้องควรเน้นความอบอุ่นและความปลอดโปร่งสบายตา เพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัด พื้นที่เลือกควรเป็นแบบเรียบ ที่มีลวดลายไม่มากนัก หรือ จะเลือกลวดลายขนาดใหญ่เพื่อสร้างความโดดเด่ดเพียงจุดใดจุดหนึ่ง  แต่หากจะเน้นในเรื่องของความอบอุ่นและความเป็นธรรมชาติก็สามารถเลือกใช้เป็น วัสดุประเภทไม้ต่างๆ  ได้เช่นกัน

ห้องครัว ถือเป็นห้องที่เกิดสิ่งสกปรกได้ง่าย ควรเลือกวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย  ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกใช้เป็น ประเภทกระเบื้อง เนื่องจาก สามารถทำความสะอาดได้ง่าย  ไม่กลัวความชื้น และ รอยขีดข่วน

ห้องนอน สำหรับบริเวณภายในห้องนี้  วัสดุปูพื้นที่ใช้นั้น แนะนำว่าควรเลือกเป็น ประเภทไม้ อาทิ  ไม้จริง ไม้ลามิเนต  ไม้ปาร์เก้ และ  กระเบื้องเซรามิก  เป็นต้น  ซึ่งจะให้ความรู้สึกอบอุ่นได้เป็นอย่างดี

ห้องน้ำ ซึ่งเป็นห้องที่ต้องเจอกับความชื้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น วัสดุที่เลือกใช้ควรเป็นวัสดุที่ทนต่อความชื้น ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เป็นประเภทกระเบื้อง แบบหยาบที่มีความหนึดสูง เพื่อลดความเสี่ยงในการลื่น และ การเกิดอุบัติเหตุภายในห้องน้ำ

วัสดุปูพื้นแต่ละประเภท มีคุณสมบัติ และข้อดี – ข้อเสียอย่างไร

พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Wood Flooring​) 

พื้นไม้ลามิเนต ปัจจุบันพื้นประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความทนทาน สวยงามเหมือนไม้จริง และติดตั้งง่าย อีกทั้งมีระบบล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ การเปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยกาวมาเป็นการเชื่อมโดยใช้กลไกติดตั้งง่าย และรวดเร็ว สำหรับความหนาที่นิยมนำไปใช้งาน จะมีความหนาตั้งแต่ 6 -12 มิลลิเมตร โดยขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งาน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 195 x 1200  มิลลิเมตร และในส่วนอายุการใช้งานนั้น เกรดธรรมดาจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี และเกรดพรีเมี่ยม มีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

  • ข้อดี มีผิวสัมผัสที่สวยงามให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริง สามารถเลือกสี หรือลายไม้ตามแบบที่เราต้องการได้ อีกทั้งยังมีความทนทานต่อการรับน้ำหนัก และแรงกระแทกขีดข่วนมีน้ำหนักเบา ติดตั้ง หรือ เปลี่ยนแผ่นแบบเฉพาะจุดโดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเวลาเเผ่นใดแผ่นนึงเกิดความเสียหาย ซึ่งทำได้ง่ายรวดเร็วด้วยระบบกลไกการล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ หรือที่เรียกว่า Click Lock โดยสามารถปูทับ พื้นกระเบื้อง เซรามิค ได้เลย
  • ข้อเสีย ไม่ทนน้ำและความชื้นสูง ถ้าหากโดนน้ำขังนานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดการพองบวม และบิดตัว มีโอกาสโดนปลวกกินถ้าเลือกใช้เกรดไม่ดี มักจะเกิดความเสียหายเวลาที่รับน้ำหนักวัตถุที่มีลักษณะเป็นเดือยแหลมคม เช่น ส้นของรองเท้าส้นแหลม เป็นต้น และไม่สามารถทำความสะอาดด้วยการใช้แว๊กซ์ น้ำยาขัดเงา หรือ น้ำยาที่มีส่วนผสมของสบู่ เพราะจะทำให้พื้นลามิเนตเกิดความเสียหายได้

พื้นกระเบื้องยาง​ (Rubber Tile Flooring) 

กระเบื้องยาง เป็นวัสดุปูพื้นอีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน เพราะมีให้ลวดลาย และโทนสีให้เลือกอย่างหลากหลาย สามารถทำการติดตั้งได้ง่าย (ติดตั้งเองโดยไม่ต้องใช้ช่างก็ทำได้) เนื่องจากมีระบบคลิ๊กเพื่อล๊อค และแผ่นกาวในตัว จึงทำให้ติดตั้งได้รวดเร็ว และสามารถรื้อไปใช้ที่อื่นได้ภายหลัง อีกทั้งยังให้บรรยากาศคล้ายการตกแต่งด้วยพื้นไม้อีกด้วย สำหรับความหนาของกระเบื้องยางจะมีความหนาตั้งแต่ 2 -12 มิลลิเมตร ( 2 – 4 มิลลิเมตร เป็นความหนาที่นิยมนำไปใช้งานมากที่สุด) อายุการใช้งานนั้นจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 ปี ใช้งานมีทั้งแบบปูพื้นภายใน และภายนอกอาคาร

  • ข้อดี มีพื้นผิวให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ใช้ภายใน และภายนอกอาคาร ให้การยึดเกาะที่ดี ช่วยลดการลื่น ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน ทนทานต่อสภาวะอากาศ และสิ่งแวดล้อมปกติ มีความคงทน เหนียว และคงรูปได้ดี ทนต่อความชื้นได้ดี หมดปัญหาเรื่องปลวก และทำความสะอาดง่าย ใช้เวลาติดตั้งไม่นาน ไม่เกิดฝุ่น ไม่เสียงดังขณะติดตั้ง กระเบื้องยางที่ใช้ภายในอาคารบางประเภท ผู้ใช้งานสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเอง รอยต่อระหว่างแผ่นสนิท ลดปัญหาความสกปรกของร่องยาแนว ที่มักจะพบได้จากการปูกระเบื้องแบบทั่วๆไป
  • ข้อเสีย เกิดรอยขีดข่วนง่ายไม่ทนต่อการลากถูสิ่งของบนพื้นผิว ไม่ทนต่อกรด ด่าง และสารเคมีบางประเภท ไม่ทนต่อรถเข็นล้อยาง หากใช้ในสถานที่มีรถเข็นที่ใช้ล้อเลื่อนเป็นยางจะทำให้ผิวหน้าเสียหาย ควรเลือกใช้ล้อประเภทพลาสติก หรือ ล้อในล่อน อาจเกิดการยืดหดตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ ถ้าหากเลือกใช้กระเบื้องยางเกรดไม่ดี อาจเกิดความเสียหายจากความชื้นสูง หรือ โดนน้ำท่วมขัง ถ้าหากเลือกใช้กระเบื้องยางเกรดไม่ดี การติดตั้งทับพื้นกระเบื้องเซรามิค ต้องปรับตรงยาแนวให้เรียบก่อน ถ้าปูทับโดยไม่ปรับระดับยาแนวให้เรียบจะทำให้กระเบื้องยางเป็นลอนคลื่นอย่างชัดเจน

พื้นกระเบื้องเซรามิก (Ceramic Tile Flooring) 

กระเบื้องเซรามิก ใช้สำหรับปูพื้นนั้นมีทั้งชนิดเคลือบมัน และชนิดที่ไม่เคลือบมัน โดยในส่วนผิวหน้าเคลือบนั้นสามารถแบ่งได้ คือ ผิวมัน (Glossy) และผิวธรรมดา (Matt) ซึ่งชนิดผิวธรรมดานี้ก็ยังสามารถแบ่งอีก 2 ชนิด นั่นก็คือเป็นกระเบื้องแบบผิวไม่หยาบ (Satin) และผิวหยาบ (Rustic) สำหรับขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งาน มีตั้งแต่ขนาด 8 x 8 นิ้ว, 12 x 12 นิ้ว, 16 x 16 นิ้วไปจนถึง 20 x 20 นิ้ว และในส่วนอายุการใช้งานนั้นจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป สามารถนำไปใช้ปูพื้นได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร (ภายนอกใช้แบบผิวหยาบ เพื่อป้องกันการลื่น)

  • ข้อดี มีความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนานหลายสิบปี เป็นรอยขีดข่วนยาก ไม่กลัวปลวก ทนต่อความชื้นในสภาพอากาศเขตร้อนชื้น ทนต่อความร้อนสูง ไม่ติดไฟ ไม่มีกลิ่น และไม่นำไฟฟ้าติดตั้งได้ง่าย และรวดเร็ว มีลวดลาย และโทนสีให้เลือกอย่างหลากหลาย ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ และหาซื้อได้ง่าย ผิวสัมผัสมีความเย็น จึงช่วยสร้างสภาวะอากาศที่เย็นสบายภายในอาคาร แม้ด้านนอกอาคารจะร้อนก็ตาม ง่ายต่อการทำความสะอาด
  • ข้อเสีย เวลาเปียกน้ำมักจะดูดซึมน้ำสูง และมีความลื่นเสี่ยงเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เมื่อรื้อแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาปูใช้ใหม่ได้ ไม่เหมาะกับพื้นที่ ที่จะต้องรับน้ำหนักมาก เพราะกระเบื้องเซรามิกอาจปริแตก หรือ ร้าวได้ อุณหภูมิของผิวสัมผัสมีความเย็น ไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานในห้องของผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้
Photo : https://www.valleyfloorcoveringct.com

พื้นไม้จริงสำเร็จรูป (Solid Wood Flooring)​ 

พื้นไม้สำเร็จ ถือเป็นวัสดุที่ให้ความสวยงามมากที่สุดประเภทหนึ่งในอุตสาหกรรมตกแต่งพื้น ไม้พื้นชนิดนี้ทำจากไม้จริงทั้งชิ้น โดยนำมาแปรรูปเป็นแผ่นๆแล้วทำรางลิ้นรอบตัว จากนั้นจึงชุปสารกันแมลง และเคลือบผิวหน้าเพื่อให้มีความคงทน ซึ่งลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านการตกแต่งลวดลายใดๆ จึงให้ความรู้สึกในการสัมผัสที่ดี และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ สำหรับขนาดที่นิยมนำไปใช้งานนั้น จะมีความหนาประมาณ 18 มิลลิเมตร มีหน้ากว้างประมาณ 90 มิลลิเมตร ส่วนความยาวนั้นจะ Random ตามความเหมาะสม โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

  • ข้อดี การติดตั้งรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอขัดทำสี มีรางลิ้นรอบตัว จึ่งทำให้การปูพื้นมีความราบเรียบสม่ำเสมอ ลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามสีสันของธรรมชาติ โดยไม่ผ่านการตกแต่งลวดลายใดๆถึงแม้สีและลายเสี้ยนอาจจะไม่สม่ำเสมอ หรือ สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางด้านความงดงามในแบบที่ไม่เหมือนใคร เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง หากผิวหน้าไม้เป็นรอยเยอะ ไม่เงางาม ก็สามารถขัดหน้าผิวไม้เพื่อทำสีใหม่ได้หลายครั้ง เนื่องจากไม้มีความหนามากกว่าไม้พื้นในโครงสร้างแบบอื่นๆ และยังให้บรรยากาศที่อบอุ่น และสบายตา
  • ข้อเสีย มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไม้ปูพื้นแบบอื่นๆ ไม่ทนไฟ ไม่สามารถป้องกันการลามไฟได้ ไม่ทนน้ำ และปลวก ในกรณีที่ไม้ได้รับความชื้นสูงเกินไป ไม้พื้นโครงสร้างแบบ Solid จะมีโอกาสยืด หด บิด หรือห่อตัวได้มากกว่าพื้นไม้ในโครงสร้างแบบอื่นๆเนื่องจากเป็นโครงสร้างของไม้ชิ้นเดียวทั้งแผ่น ที่ไม่มีการประกอบชั้นแบบขวางเสี้ยน เพื่อยึดแต่ละชั้นของไม้เข้าด้วยกัน ส่วนมากไม้ Solid หรือ ไม้พื้นรางลิ้นรอบตัว ใช้วิธีการปูแบบ knock down คือปูไม้อัดก่อน แล้วยิงตะปู ฉะนั้นเวลารื้อ ต้องรื้อทั้งแผง ต่างจากไม้ Engineered ที่ปูแบบลอยตัวหรือปูกาว เมื่อเสียหายสามารถรื้อเพื่อซ่อมแซมเป็นบางส่วนได้

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineered Wood Flooring) 

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ คือ นวัตกรรมใหม่ของไม้พื้นที่มีโครงสร้างเลเยอร์มากกว่า 1 ชั้น ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการบิดงอ หรือ การขยายตัวของไม้จริง เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

  • ข้อดี มีสีสัน ลวดลาย และชนิดเนื้อไม้ ให้เลือกอย่างหลากหลายให้บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นธรรมชาติ หากชำรุดเสียหาย ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่มีปัญหาได้ทันที เนื่องจากพื้นไม้เอ็นจิเนียร์นั้นได้ผ่านการทำสี และเคลือบผิวหน้าไม้มาแล้ว ในส่วนของการติดตั้งจึงสามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีขั้นตอนของการขัดทำสี ทนต่อแรงกระแทก และทนต่อรอยขูดขีดได้ดี ซึ่งจะทนได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผิวหน้าว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้ออ่อน ให้ผิวสัมผัสที่เรียบ สบายเท้า เพราะไม้ผิวหน้าเป็นไม้ธรรมชาติ เดินแล้วรู้สึกแน่น ไม่มีเสียงแครก หรือ เสียงกลวง เพราะติดตั้งด้วยกาว
  • ข้อเสีย ในกรณีที่ใช้งานไปนานๆ แล้วอยากจะขัดทำสีใหม่นั้น จะมีข้อจำกัดที่ว่าสามารถทำได้ไม่เกิน 2 ครั้ง เนื่องจากไม้ผิวหน้าค่อนข้างบางผู้ใช้งานส่วนมากจึงนิยมเปลี่ยนแผ่นใหม่ หรือเปลี่ยนสีพื้นไปเลย ไม่ทนต่อน้ำ และความชื้น ถ้าแช่น้ำนานๆจะเกิดอาการบวม พอง และยังมีราคาค่อนข้างแพง

พื้นไม้คอร์ก (Cork Wood Flooring) 

ไม้คอร์กที่นำมาทำเป็นวัสดุปูพื้นนั้น ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นนอกของต้นโอ๊ก โดยชั้นเนื้อไม้ที่ลอกออกมาจะประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา พื้นผิวมีความยืดหยุ่น อีกทั้งยังสามารถกันความชื้น และดูดซับเสียงได้ดี นอกจากจะดูนุ่มนวลด้วยสายตาแล้ว ยังให้ความนุ่มนวลถึงการสัมผัส ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งให้สัมผัสที่นุ่มนวลแตกต่างจากพื้นไม้ประเภทอื่นๆ จึงเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับปูพื้นห้องเด็กเล็ก ,ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น นอกจากนี้พื้นไม้คอร์กยังจัดเป็นวัสดุธรรมชาติ 100%

  • ข้อดี ทำให้ห้องเงียบ เพราะมีการดูดซับเสียงที่ดีกว่าวัสดุพื้นประเภทอื่นๆช่วยลดแรงกระแทก เนื่องจากพื้นที่มีความนุ่มนวล และยืดหยุ่นสูง ทำให้ลดแรงกระแทกในการเดิน นั่งนอน โดยเฉพาะลดการเกิดอันตรายต่อเด็ก และผู้สูงวัยสามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิ และความดันได้ดี จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายไม่เย็นจนเกินไป เพราะเนื่องจากพื้นไม้คอร์กจะรักษาอุณหภูมิภายในตัววัสดุให้มีความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา มือเท้าที่สัมผัสไม่เย็นจนเกินไป ทำให้เกิดสภาวะสบายในการอยู่อาศัย มีความทนทาน ของเหลว และก๊าซจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ เป็น ECO Material ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการตัดไม้จริงจากป่าธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน และรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ตลอดเวลา ไม้คอร์กบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันน้ำ และคราบสกปรกได้ จึงสามารถนำไปใช้กับห้องน้ำได้และสามารถรีไซเคิลนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ชั้นเนื้อไม้ประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการบีบอัด
  • ข้อเสีย ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ในกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทั้งแผง การป้องกันความชื้นมีข้อจำกัด ราคาค่อนข้างสูง การดูแล ระมัดระวังจะมากกว่าพื้นทั่วไป

พื้นหินอ่อน (Marble Flooring) 

พื้นหินอ่อน พื้นหินที่ได้มาจากวัตถุดิบในธรรมชาติ จัดเป็นวัสดุที่สะท้อนถึงความสง่างาม หรูหราอย่างมีระดับ ในปัจจุบันมีการนำมาใช้งานน้อยลง เพราะมีวัสดุทดแทนที่ให้คุณสมบัติ และความสวยงามที่ใกล้เคียง หรือ ดีกว่าเพิ่มมากขึ้น เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคาร (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ) มีลวดลายสีขาว เทา น้ำตาล ชมพู เขียวผสมขาว ฯลฯ โดยอาจมีก้อนสี หรือ เส้นสีที่เกิดจากสายแร่ หรือคาร์บอนเจือปน จึงทำให้หินอ่อนในประเทศสวยสู้หินอ่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้ นิยมสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ อาทิเช่น อิตาลี

  • ข้อดี เป็นวัสดุที่ให้ความเงางาม หรูหรา ด้วยลวดลายที่เป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน (ไม่ผุ ไม่บวม ไม่กรอบ ไม่ขึ้นสนิม เหมือนวัสดุอื่นๆ ถ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมหินอ่อนจะเป็นวัสดุที่สามารถมีอายุการใช้งานได้นับ 100 ปี ดังที่เรามักจะเห็นการนำหินอ่อนไปตกแต่งปราสาท หรือพราะราชวัง ถึงตัวอาคารจะมีอายุนับร้อยปี แต่วัสดุอย่างหินอ่อนก็ยังคงทนทานไม่บุบสลาย) ช่วยให้บรรยากาศภายในอาคารมีความเย็นสบาย ติดตั้ง และทำความสะอาดได้ง่าย
  • ข้อเสีย ไม่ทนต่อกรดถ้าโดนน้ำส้มสายชูก็จะเกิดรอยด่าง ถ้าเป็นหินอ่อนสีขาวจะด่างเป็นสีเหลือง หินอ่อน (เพียงบางชนิดเท่านั้น) ไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้ตกแต่งอาคารที่อยู่ชายทะเล เพราะไอเค็มของน้ำทะเลจะกัดกร่อนผิวหน้าของหินอ่อน (ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากๆ กับหินอ่อนราคาถูก เพราะคุณภาพที่ถูกตามไปด้วย จึงไม่สามารถป้องกันไอเค็มทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ความร้อนของแสงแดดสามารถทำให้สีของหินอ่อนซีดจางได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปตกแต่งในพื้นที่โดนแสงจัด (ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้หินอ่อนสีขาวเพราะถึงแม้สีจะซีดจางลงบ้างแต่ก็เห็นไม่ชัดเจนนัก) ควบคุมลวดลาย และสีสัน รวมไปถึงตำหนิต่างๆได้ยากเนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติ และต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการติดตั้ง ซึ่งหาได้น้อย มีน้ำหนักค่อนข้างมาก และมีราคาแพง ไม่ค่อยทนต่อรอยขีดข่วนมากนัก อุณหภูมิพื้นผิวมีความเย็น และผิวสัมผัสมีความลื่นเมื่อโดนน้ำ อาจเป็นอันตรายได้

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite Flooring หรือ WPC) 

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต วัสดุปูพื้นที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกัน ถูกนำไปใช้งานภายนอกอาคารเสียเป็นสวนใหญ่ เช่น พื้นรอบๆสะว่ายน้ำ พื้นทางเดินในสวน หรือ พื้นระเบียงภายนอก ฯลฯ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี

  • ข้อดี ไม่มีมอด และแมลงรบกวน มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน) มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้
  • ข้อเสีย เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก
Photo  David Carmack

เทคนิคการปูกระเบื้องให้เนี้ยบ ช่างมือโปรมาเอง

ควรใช้ปูนกาวในการปูกระเบื้อง ใช้เกรียงหวีปาดปูนกาวให้เต็มพื้นที่บริเวณพื้นคอนกรีตและด้านหลังกระเบื้อง จากนั้นคว่ำกระเบื้องลงยังจุดที่กำหนดไว้ ใช้ค้อนปรับระดับให้ได้ระนาบ เมื่อปูเสร็จ รอให้ปูนกาวเซตตัวอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จากนั้นทำการยาแนวและทิ้งไว้อีกอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเข้าใช้พื้นที่ (เนื่องจากซีเมนต์ที่ใช้ทำยาแนว จะมีการแข็งตัวอย่างสมบูรณ์ที่ 7 วัน) วิธีนี้จะทำให้ปูนกาวยึดเกาะกระเบื้องได้เต็มแผ่น หมดปัญหากระเบื้องแตกเนื่องจากมีโพรงภายใต้กระเบื้อง และน้ำซึมผ่านเข้าไปใต้กระเบื้องได้ยาก จึงช่วยลดปัญหาการเกิดคราบขาวบริเวณผิวหน้ากระเบื้อง ที่มีสาเหตุมาจากปฏิกริยาไฮเดรชั่นของน้ำกับปูนใต้กระเบื้อง

 

เทคนิคและข้อสังเกตการตรวจเช็คงานกระเบื้อง

เคาะที่แผ่นกระเบื้อง หากมีเสียงก้อง และกลวงๆ แสดงว่าช่างปูกระเบื้องไม่ถูกวิธีและอาจจะทำให้เกิดปัญหาแตกร้าวหลุดร่อนได้ ลวดลายการปูกระเบื้อง ต่อมาให้ดูที่ความสวยงามของกระเบื้องว่าต้องมีสีสันและลวดลายแบบเดียวกัน ไม่มีแผ่นใดที่เด่นแปลกตาออกมา เนื่องจากหากเป็นกระเบื้องที่ไม่ได้ผลิตในล็อตเดียวกัน จะทำให้ได้สีสันที่แตกต่างกันได้ ตรวจดูระดับของกระเบื้อง โดยกระเบื้องที่ปูทุกแผ่นต้องได้ระดับเท่ากัน ทั้งกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องปูผนัง ตรวจร่องระหว่างกระเบื้อง ว่าร่องเท่ากันหรือไม่ ใช้ยาแนวสีเดียวกับที่เราต้องการหรือเปล่า และยาแนวเต็มร่องกระเบื้องหรือไม่ ความลาดเอียง ว่ามีระดับความลาดเอียงของพื้นหรือไม่ โดยปกติจะต้องมีระดับสูงเอียงประมาณ 5 ซม. เพื่อให้น้ำไหลสู่ท่อได้หมด Flooring material รวมทุกเทคนิคเรื่อง วัสดุปูพื้น รู้แล้วเลือกไม่พลาด

Flooring material รวมทุกเทคนิคเรื่อง วัสดุปูพื้น รู้แล้วเลือกไม่พลาด นอกเหนือจากเรื่องคุณสมบัติ ข้อดีข้อเสีย ยังเป็นเรื่องของการดีไซน์ ความชอบของเจ้าของโครงการนั้นๆ ด้วยเพราะเราเชื่อว่าการจะสร้างอาคาร หรือโครงการสักแห่งนั้น ทุกท่านมีแบบอยู่แล้วในใจเพียงต้องการข้อมูลย่ำ ให้ชัดเจนเพิ่มเติม ในแง่ของความเหมาะสม ความปลอดภัยในการใช้งาน ความสวยงาม การดูแลรักษา ,การทำความสะอาด การซ่อมบำรุง ความคงทน และราคา ต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ก่อนตัดสินใจเลือกจะได้ไม่ต้องมาแก้ไขงานในภายหลัง และช่างก็ต้องมีความชำนาญในการติดตั้งวัสดุปูพื้นแต่ละประเภทให้งานออกมาเนี้ยบ สวยงาม สมบูรณ์ตามความต้องการของเจ้าของโครงการการเก็บรายละเอียด และไม่มองข้ามขั้นตอนการติดตั้งแต่ละจุด นั้นงานต้องออกมามีคุณภาพอย่างแน่นอน อ่านต่อเรื่องฝ่าเพดาล Ceilling อยากได้ฝ้าเนี้ยบต้องไม่พลาด เทคนิคการเลือกฝ้าเพดาน เจาะลึกทุกรายละเอียด

Source  https://www.wazzadu.com/article/3226 : ข้อดีข้อเสียวัสดุปูพื้นแต่ละประเภท, https://www.infinitydesign.in.th/ วัสดุปูพื้นเหมาะกับห้องแบบไหน ,David Carmack : เทคนิคการปูกระเบื้อง
Photo https://www.wazzadu.com, www.downtownwindsor.ca, David Carmack