Steel structure floor  เทคนิคเจาะลึก อยากสร้างอาคารโครงสร้างเหล็ก  ต้องเลือกพื้นอย่างไร

อาคารโครงสร้างเหล็ก ตอบโจทย์ธุรกิจ ในยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ด้วยความรวดเร็วในการก่อสร้าง งานออกแบบที่หลากหลาย ความยืดหยุ่น แข็งแรง มีอาคารสำนักงานที่มีเอกลักษณ์  งานดีไซน์ที่เทห์ ไร้ขีดจำกัด มีสถาปัตยกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศให้เห็นกันมากมาย สำหรับในอาคารโครงสร้างเหล็ก ที่เสาและคานเป็นวัสดุเหล็ก หลายท่านอาจสงสัยว่า “พื้น” ต้องใช้วัสดุอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วโครงสร้างเหล็กสามารถทำพื้นได้หลากหลายไม่ต่างจากบ้านโครงสร้างคอนกรีต การเลือกใช้พื้นแต่ละประเภทจึงขึ้นอยู่กับการใช้งาน การรับน้ำหนัก ความชอบ และงบประมาณ โดยวันนี้เราจะพาไปดูพื้นอาคาร 3 แบบ ซึ่งนิยมนำมาใช้กับอาคารโครงสร้างเหล็ก ได้แก่ พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป พื้นคอนกรีตหล่อในที่และพื้นไม้ ซึ่งมีรายละเอียดวิธีการติดตั้งต่าง ๆ กันดังนี้

พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Slabs) 

สำหรับพื้นประเภทพื้นปูน วัสดุที่มักนิยมเลือกใช้กันคือ “แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป” โดยในปัจจุบันมีความยาวสูงสุดที่ 5 เมตร จึงเหมาะสำหรับในงานอาคารขนาดเล็กที่มีช่วงพาดไม่มาก แผ่นพื้นประเภทนี้มีขั้นตอนการใช้งานไม่ยุ่งยากและประหยัดเวลาจากการที่ไม่ต้องทำไม้แบบ ซึ่งโครงสร้างเหล็กมีความแข็งแรงเพียงพอเหมาะสำหรับการรับน้ำหนักแผ่นพื้นได้เป็นอย่างดี

ภาพประกอบ :  https://www.hbeamconnect.com

การติดตั้ง : การวางแผ่นพื้นสำเร็จในแต่ละช่วงคานควรใช้การวางแผ่นพื้นสลับกัน เพื่อเฉลี่ยน้ำหนักที่คานจะต้องรับให้สม่ำเสมอและเพื่อให้ระยะวางบนปีกคานเพียงพอ (ในกรณีคานมีขนาดเล็ก) ก่อนวางแผ่นพื้นให้ทำการยึดเหล็กเส้นบริเวณหลังคาน โดยใช้การเชื่อมเหล็กเส้น (Sher stud) ขนาด 6 มม. ยาว 50 ซม. ทุกระยะ 20 ซม. หรือระยะเท่ากับแผ่นพื้น หลังจากวางแผ่นพื้นแล้วให้พับเหล็กเส้นที่เชื่อมไว้รัดขอบแผ่นพื้นสำเร็จก่อนจะนำไปผูกติดกับเหล็กเสริมพื้น ต้องมีการเสริมค้ำยันกลางแผ่นพื้นที่ด้านล่างเพื่อรองรับน้ำหนักคอนกรีตระหว่างเทคอนกรีตทับหน้า (Topping) หลังเทคอนกรีตสามารถติดตั้งวัสดุปูพื้นหรือทำพื้นผิว (Finishing) ได้ตามที่ต้องการ

พื้นคอนกรีตหล่อในที่ (Cast-in-Place Concrete Slabs) 

สำหรับพื้นประเภทพื้นปูนอีกชนิดคือพื้นคอนกรีตหล่อในที่ ซึ่งสามารถใช้งานในส่วนที่เปียก เช่น ห้องน้ำ หรือดาดฟ้าได้ โดยจะมี 2 ลักษณะได้แก่ แบบพื้นคอนกรีตขึ้นโครงยึดเหล็กเส้นกับแบบแผ่นเหล็กรีดลอน (Metal Deck) ซึ่งในงานโครงสร้างเหล็กแนะนำว่าควรเลือกใช้พื้นหล่อในที่แบบ Metal Deck เนื่องจากสามารถใช้แผ่น Metal Deck ปูแทนไม้แบบได้เลย ทำให้ทำงานง่ายและสะอาด บริเวณท้องพื้นซึ่งเป็นลอนโลหะสามารถใช้เป็นฝ้าของห้องชั้นล่างได้ด้วย โดยปัจจุบันแผ่นเหล็กสามารถสั่งตัดได้ความยาวสูงสุดถึง 12 เมตร จึงเหมาะสำหรับการใช้งานอาคารในขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เช่น อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น

การติดตั้ง : การวางระดับพื้น Metal Deck สามารถวางในระดับเดียวกับปีกเหล็ก (Flange) หรือวางบนปีกเหล็กได้ตามความต้องการของผู้ออกแบบ โดยในกรณีที่วางให้ระดับผิวสำเร็จเสมอปีกเหล็ก (Flange) ควรรองแผ่น Metal Deck ด้วยเหล็กฉากก่อนเพื่อรองรับและปรับระดับตำแหน่งของคอนกรีตบนให้เสมอระดับปีกเหล็ก การติดตั้งสามารถใช้การเชื่อมติดหรือใช้การยึดด้วยหัวหมุดเหล็ก (Shear Stud) เป็นระยะเพื่อยึดแผ่น Metal Deck กับคานได้ จากนั้นวางเหล็กเส้นหรือตะแกรงกันร้าวด้านบนแล้วจึงเทคอนกรีตทับหน้า (Topping) และทำการติดตั้งวัสดุปูพื้นหรือทำพื้นผิว (Finishing) ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งพื้น Metal Deck ยังสามารถฝังท่องานระบบต่างๆ เช่น ท่อห้องน้ำ ได้เช่นเดียวกับงานพื้นคอนกรีตหล่อในที่

แต่หากจะออกแบบให้เป็นพื้นหล่อในที่แบบท้องเรียบ ก็สามารถทำได้ง่ายดาย ไม่ต่างจากการหล่อพื้นกับคานคอนกรีต โดยใช้แผ่นไม้แบบรอง มีคำยันใต้ท้องพื้น จากนั้นเชื่อมเหล็กเสริมเข้ากับคานเหล็ก ซึงสามารถออกแบบให้ระดับหลังพื้นเสมอคาน ต่ำกว่า หรือวางบนพื้นคานก็ได้

ภาพประกอบ :  https://www.hbeamconnect.com

พื้นไม้ (Wooden) 

นอกจากพื้นปูน “พื้นไม้” ก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่มีความแข็งแรงและสวยงาม เป็นวัสดุที่เหมาะสำหรับการใช้งานร่วมกับอาคารเหล็ก เพราะให้ความงามที่คลาสสิก ให้ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวล เข้ากับสัมผัสที่ดูเข้มแข็งและเยือกเย็นของโครงสร้างเหล็กได้

การติดตั้ง : การติดตั้งไม้กับเหล็กใช้ระบบสลักเกลียว (Bolt & Nut) ซึ่งรูปแบบหลักๆ มีการติดตั้ง 2 วิธี ได้แก่ วิธีการติดตั้งตงเหล็กระหว่างคานหลัก ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ทั้งเหล็ก Cut-T หรือเหล็กกล่องก่อนปูพื้นไม้ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยประหยัดการใช้วัสดุไม้ลงได้ หรือ อีกวิธีหนึ่ง สามารถวางตงไม้ลงบนคานเหล็กก่อนปูพื้นไม้ตามปกติได้เลย

งานอาคารโครงสร้างเหล็ก จะเลือกใช้พื้นแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งสถาปนิกและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ จะออกแบบให้งานสถาปัตยกรรมสะท้อนตัวตนและความต้องการของเจ้าของโครงการ  และให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย งบประมาณ ระยะเวลาในการก่อสร้าง ความลงตัวสวยงามทั้งรูปลักษณ์ และฟังก์ชั่นการใช้งาน ที่ตอบโจทย์ไม่ว่าจะเป็น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า  บ้าน คลังสินค้า โรงงาน อื่นๆ

Data : https://www.hbeamconnect.com

Photo Cover : https://www.hbeamconnect.com